เมนู

2. อุณณาภพราหมณสูตร



อินทรีย์ 5 มีอารมณ์ต่างกัน



[966] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้-
มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการ
ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้
ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
[967] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ 5 ประการนี้ มีอารมณ์
ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ 5
ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ 1 โสตินทรีย์ 1 ฆานินทรีย์ 1 ชิวหินทรีย์ 1
กายินทรีย์ 1 อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ 5 ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์
ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และอะไร
ย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ 5 ประการนี้.
[968] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ อินทรีย์ 5
ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจร
ของกันและกัน อินทรีย์ 5 ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ 1 โสตินทรีย์ 1
ฆานินทรีย์ 1 ชิวหินทรีย์ 1 กายินทรีย์ 1 ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ 5
ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจร
ของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ 5 ประการนี้.
[969] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจเล่า.
พ. ดูก่อนพราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ.
[970] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติเล่า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ วิมุตติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ.
[971] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่ง
วิมุตติเล่า.
พ. ดูก่อนพราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุตติ.
อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งนิพพานเล่า.
พ. ดูก่อนพราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่
สุดแห่งปัญญาได้ ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่ง
ลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.
[972] ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำ
ประทักษิณแล้วหลีกไป.
[973] ครั้นอุณณาภพราหมณ์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาค-
เจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
[974] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรือนยอดหรือศาลาคล้ายเรือนยอด มี
หน้าต่างในทิศเหนือหรือทิศตะวันออก เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงส่องเข้าไป
ทางหน้าต่างตั้งอยู่ที่ฝาด้านไหน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้าน
ตะวันตก พระเจ้าข้า.
พ. อย่างนั้น เหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในพระตถาคตของ
อุณณาภพราหมณ์มั่นคงแล้ว มีรากเกิดแล้ว ตั้งอยู่มั่นแล้ว อันสมณพราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกจะพึงชักนำไปไม่ได้ ถ้าอุณณาภ-
พราหมณ์ พึงทำกาละในสมัยนี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ซึ่งเป็นเครื่องประกอบ
ให้อุณณาภพราหมณ์ต้องมายังโลกนี้อีก.
จบอุณณาภพราหมณสูตรที่ 2

อรรถกถาอุณณาภพราหมสูตร



อุณณาภพราหมณสูตรที่ 2.

คำว่า โคจรวิสยํ ได้แก่อารมณ์
อันเป็นที่เที่ยวไป (ของจิต). คำว่า ของกันและกัน คือ อินทรีย์อย่างหนึ่ง
ย่อมไม่เสวยอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง เช่นตาจะเสวยอารมณ์แทนหูไม่ได้ หรือหู
จะเสวยอารมณ์แทนตา (ก็ไม่ได้) จริงอยู่ หากจะเอาอารมณ์คือรูปที่แตกต่าง
กันด้วยสีเขียวเป็นต้น มารวมกันแล้วก็ป้อนเข้าไปให้โสตินทรีย์ว่า เอาสิ
แกลองชี้แจงมันมาให้แจ่มแจ้งทีว่า นี่มันชื่ออารมณ์อะไรกัน ? จักษุวิญญาณ
แม้จะยกเอาปากออกแล้ว ก็จะต้องพูดโดยธรรมดาของตนอย่างนี้ว่า เฮ้ย !
ไอ้บอดโง่ ต่อให้แกวิ่งวุ่นตั้งร้อยปี พันปีก็ตาม นอกจากข้าแล้ว แกจะได้
ผู้รู้อารมณ์นี้ที่ไหน แกลองนำเอามันมาป้อนเข้าไปที่จักษุประสาทสิ ข้าจะ
รู้จักอารมณ์ ไม่ว่ามันเป็นสีเขียวหรือสีแดง เพราะนี่มันมิใช่วิสัยของผู้อื่น
แต่มันเป็นวิสัยของข้าเองเท่านั้น . แม้ในทวารที่เหลือก็ทำนองนี้แหละ อินทรีย์
เหล่านี้ ชื่อว่าไม่เสวยอารมณ์ของกันและกันดังที่ว่ามานี้.
คำว่า กึ ปฏิสรณํ คือ ท่านถามว่า อะไรเป็นที่พึ่งอาศัยของ
อินทรีย์เหล่านี้ คืออินทรีย์เหล่านี้พึ่งอะไร. คำว่า มโน ปฏิสรณํ คือใจ
ที่เป็นชวนะ (แล่นไปเสพอารมณ์) เป็นที่พึ่งอาศัย. คำว่า มโน จ เนสํ
ความว่า ใจนั่นแล ที่แล่นไปตามมโนทวารนั่นแหละ ย่อมเสวยอารมณ์ของ
อินทรีย์เหล่านั้น ด้วยอำนาจความรักเป็นต้น. จริงอยู่ จักษุวิญญาณ เห็น
แต่รูปเท่านั้นเอง ความรักความโกรธหรือความหลงในความรู้แจ้งทางตานี้
หามีอยู่ไม่ แต่ชวนะในทวารหนึ่ง ย่อมรัก โกรธ หรือหลง. แม้ใน
โสตวิญญาณเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. ในเรื่องนั้นมีข้อเปรียบเทียบดังนี้.